วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อคิดจากศิลปิน





หลังจากได้โพสต์ภาพงานเด็กที่หอศิลป์ลงเป็นบันทึกประจำวันในเฟซบุ๊ค มีเพื่อนศิลปินชี้ให้ดูภาพสองภาพเปรียบเทียบกัน เนื่องจากเป็นภาพที่คล้ายคลึงกัน และบังเอิญเป็นงานของพี่น้องฝาแฝด ที่มาีร่วมเรียนในชั้นเดียวกัน โดยศิลปินท่านนี้มีความเห็นเกี่ยวกับภาพสองภาพนี้ว่า ภาพหนึ่ง มีทิศทางซึ่งมองไม่เห็น อันเกิดจากองค์ประกอบในภาพชี้ไปยังตัวประธานของเรื่อง (โดยเด็กวัยนี้ไม่น่าจะทำด้วยความจงใจ) นับว่าได้ผลตรงเป้าหมาย เพราะสื่อเนื้อหาของภาพ ส่วนอีกภาพที่คล้ายกัน กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น (ขออนุญาตนำภาพของน้องแฟร์และน้องพอร์ชมาเป็นตัวอย่างเพีื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ)

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การใช้สีของเด็ก


เด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะไม่สนใจเรื่องระบายสีมากนัก เพราะเมื่อเขาวาดลายเส้นจนพอใจ เขาจะถือว่างานเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว การระบายสีจึงไม่จำเป็น ถ้าถูกขอร้องให้ระบาย (ตามความคิดของผู้ใหญ่-มันยังไม่เสร็จ) เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่เกินมา
แต่ก็มีเด็กบางคน ค้นพบว่าการระบายสี ก็สนุกและสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง จึงสนใจการระบายสีมากเป็นพิเศษ ซึ่งมักเป็นส่วนน้อย เด็กจะไม่คิดอะไรมากกับการเลือกใช้สี เขาจะไม่คำนึงถึง ทฤษฎีสี น้ำหนักของสี หรือ การจัดวางสีใดๆ
แต่สิ่งที่เด็กไทยให้ความสำคัญมากคือการระบายสีให้ตรงกับสีจริงของสิ่งที่วาด เช่น เนื้อคนต้องเป็นสีเนื้อ หญ้าต้องเป็นสีเขียว ต้นไม้มีใบเขียว ลำต้นสีน้ำตาล พระอาทิตย์สีแดง จนเป็นสูตรสำเร็จ
จะมีเด็กน้อยคนมากที่จะระบายสีสิ่งต่างๆให้มีสีที่แตกต่างออกไป และยิ่งน้อยคนลงไปอีกที่รู้จักการจัดวางสีให้ดูมีลูกเล่น ในบรรดาเด็กเหล่านี้ จะเป็นเด็กที่ได้เล่นกับการใช้สีอย่างอิสระและเล่นจนเต็มอิ่ม จนก้าวข้ามเขตจำกัดที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง
ความน่ารักน่าดูในงานภาพสีของเด็ก มักเกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะสร้างงาน เช่นทาสีพลาด ควบคุมมือไม่ได้ มีการเหลื่อมสีกันอย่างไม่จงใจ หรือ เกิดอุบัติเหตุขณะใช้สี แล้วแก้ไขไป เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ลายเส้นของเด็ก


ลายเส้นของเด็ก เป็นการสื่อสารจินตนาการและประสบการณ์ที่มีอยู่ ผ่านทางมือ
ฉะนั้น ภาพที่เด็กทำออกมา อาจจะไม่ใช่ภาพที่เจ้าตัวต้องการก็ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทักษะของการใช้มือ และ การฝึกวาดภาพในรูปแบบที่ตนไม่เคยทำมาก่อน หากว่าเด็กมีฉันทะ ใจรักที่จะวาด การฝึกฝนจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เมื่อได้ฝึกมาก การใช้กล้ามเนื้อมือก็จะชำนาญมากเป็นเงาตามตัว
ประกอบกับการหาภาพใหม่ๆมาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ ก็จะเป็นการขยายคลังภาพของตน ให้สามารถนำมาใช้สื่อจินตนาการของตนได้มากขึ้น
ต้วอย่างเช่น ถ้าเด็ก ป.3 ต้องการวาดบ้านทรงไทย เพราะต้องการแต่งนิทานพื้นบ้านไทย แต่ไม่มีประสบการณ์วาดบ้านทรงไทยมาก่อน เพราะเคยแต่วาดบ้านรูปทรงง่ายๆแบบเดียวมาตั้งแต่จับดินสอวาด
ภาพของบ้านหลังนั้น จะผลุดขึ้นทันทีที่ต้องการวาดบ้าน
เมื่อถึงเวลาที่ต้องการบ้านทรงไทย เด็กจะไม่สามารถวาดได้
จึงควรที่จะหาตัวอย่างบ้านทรงไทยง่่ายๆมาฝึกฝน
จากนั้นเด็กจะมีบ้านทรงไทยเพิ่มขึ้นในคลังภาพ (ในสมอง)ของเด็ก
สามารถนำมาใช้ได้ทุกครั้งที่ต้องการ